top of page

เกร็ดความรู้ : หลักการก่อสร้าง

งานด้านโครงสร้าง

งานด้านโครงสร้างนี้จะเริ่มตั้งแต่การทำโครงสร้างของฐานราก อันได้แก่ การลงเสาเข็มและการหล่อตอม่อ เพื่อรองรับโครงสร้างของเสาและคานที่จะต้องทำอย่างต่อเนื่องเป็นขั้นตอนถัดไป หลังจากนั้นก็จะเป็นงานโครงสร้างของพื้นและบันได ซึ่งจะต้องเชื่อมต่อกับเสาและคานที่ได้ทำไว้แล้ว โดยการทำพื้นจะต้องเริ่มทำจากชั้นล่างไล่ขึ้นไปหาชั้นบนเพื่อความสะดวก ในการทำงานและการลำเลียงวัสดุต่อจากนั้นก็จะเป็นงานโครงสร้างของหลังคา ซึ่งในปัจจุบันส่วนใหญ่มักจะทำเป็นโครงเหล็ก โดยเชื่อมต่อกับเสาและคานชั้นบนสุด หลังจากการทำโครงหลังคาอันเป็นงานโครงสร้างส่วนสุดท้ายของตัวบ้านแล้วก็มักจะต่อด้วยการมุงหลังคาเลยเพื่อทำหน้าที่คุ้มแดดคุ้มฝนให้แก่ตัวบ้าน ซึ่งจะสร้างในลำดับถัดไป นอกจากนี้ยังมีงานโครงสร้างของรั้วซึ่งอาจจะทำก่อนทำภายหลังหรือทำไปพร้อมๆกับงานโครงสร้างของตัวบ้านก็ได้แล้วแต่กำลังคนและความสะดวกเนื่องจากเป็นส่วนที่แยกจากตัวบ้าน แต่ถ้าเป็นบ้านที่มีเนื้อที่จำกัดจำเป็นต้องสร้างตัวบ้านให้ชิดกับรั้ว ก็มักจะทำรั้วภายหลังเพื่อความสะดวกในการจัดวางและลำเลียงวัสดุก่อสร้างในระหว่างการก่อสร้างตัวบ้าน

 

ในขั้นตอนของงานโครงสร้างนี้มีข้อสังเกตบางอย่างกล่าวคือ อาจมีงานหรือขั้นตอนอื่นที่จะต้องทำหรือ เตรียมการในช่วงจังหวะนี้ที่พบเห็นกันบ่อยและถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับบ้านทั่วไป นั่นคือการฉีดยาป้องกันปลวก ไม่ว่าจะใช้ระบบการวางท่อน้ำยา หรือใช้ระบบการฉีดยาให้ซึมลงไปในดินโดยตรง จะต้องทำก่อนการทำพื้นชั้นล่างของตัวบ้าน โดยเฉพาะระบบการวางท่อน้ำยา ซึ่งจะต้องเดินท่อโดยยึดกับคานคอดิน เพราะหลังจากทำพื้นชั้นล่างแล้วจะไม่สามารถเดินท่อได้เลย ถ้าจะคิดทำในภายหลังจะทำได้อย่างมากก็เป็นการเจาะพื้นแล้วฉีดน้ำยาลงไปบนผิวดินด้างล่าง ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหาย ไม่สวยงามและได้ผลไม่ดีเท่าที่ควร
 

อีกจุดหนึ่งที่ต้องระวังก็ คือ การวางตำแหน่ง และ การเดินท่อประปา เนื่องจากในปัจจุบันบ้านส่วนใหญ่ นิยมเดินท่อประปาระบบฝังใต้พื้นเพื่อความสวยงาม ดังนั้นก่อนการเทพื้นจะต้องแน่ใจว่าการวางแนวท่อ ต่างๆ ทำไว้อย่างเรียบร้อยและสอดคล้องกับตำแหน่งของก๊อกน้ำต่างๆที่ได้กำหนดไว้ หรือ ถ้าจะมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขอย่างไร ก็ต้องรีบทำในขั้นตอนนี้ ก่อนที่จะทำการเทพื้น กลบแนวท่อ เพราะถ้าเกิดการผิดพลาดขึ้นการแก้ไขจะทำได้ลำบาก นอกจากนี้ในขั้นตอนการมุงหลังคาก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่ต้องเตรียมการในกรณีที่ต้องการติดตั้งวัสดุป้องกันความร้อนใต้กระเบื้องหลังคา ก็จะต้องกำหนดไว้ก่อนและทำไปพร้อมๆ กับขั้นตอนของการมุงหลังคาเลย

 

งานก่อสร้างตัวบ้าน

งานก่อสร้างตัวบ้านเป็นงานที่ต้องทำต่อเนื่องจากงานด้านโครงสร้าง งานหลักในส่วนนี้ ได้แก่ การก่อผนังและการติดตั้งวงกบประตู หน้าต่าง ซึ่งจะต้องทำควบคู่กันไป เนื่องจากวงกบประตูหน้าต่างและผนัง บ้านเป็นสิ่งที่ติดตั้งเชื่อมต่อเข้าด้วยกัน ซึ่งการทำผนังบ้านในขั้นตอนนี้จะเป็นเพียงการก่ออิฐ ให้เป็นรูปเป็น ร่องก่อนเพื่อการติดตั้งวงกบ หลังจากทำการติดตั้ง วงกบเรียบร้อยแล้ว จึงทำการฉาบแต่งผนังไปพร้อม ๆ กับ การฉาบแต่งเสาและคาน ส่วนการติดตั้งบานประต ูหน้าต่างอาจทำการติดตั้งต่อเนื่องไปเลย หรืออาจจะค่อย ๆ ทยอยติดตั้งหรืออาจจะรอไปทำในช่วงหลังเลยก็ได้ หากเกรงว่าจะก่อเกิดความไม่สะดวกในการลำเลียงวัสดุหรือก่อให้เกิดปัญหาในการดูแลรักษา

 

ในกรณีของบ้านที่มีการเดินท่อน้ำและสายไฟเป็นระบบฝัง การเดินท่อน้ำและท่อร้อยสายไฟในส่วนที่จะต้องฝังอยู่ภายในผนังก็จะต้องทำในช่วงนี้ การวางท่อต่างๆจะเริ่มทำหลังจาก ที่ก่อผนังด้วยอิฐแล้ว โดย จะทำการเจียนผนังอิฐ ให้เป็นร่องลึกลงไปเป็นแนวตามที่กำหนด เพื่อจะได้วางท่อให้ฝังลงไปในผนังได้ก่อนที่จะทำการฉาบแต่งผนัง ฉะนั้นจุดที่ควรระวังในขั้นตอนนี้ก็คือ ก่อนการฉาบแต่งผนังจะต้องแน่ใจว่าการวางท่อต่าง ๆ ทำไว้อย่างถูกต้อง เรียบร้อย การวางตำแหน่งของสวิตซ์ไฟ ปลั๊กไฟ ก๊อกน้ำ หรืออุปกรณ์ต่างๆที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับการเดินท่อภายในผนังเป็นไปตามที่กำหนดและสอดคล้องกับแนวท่อที่เดินไว้ หากจะมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข ก็ต้องรีบทำในขั้นตอนนี้ ก่อนที่จะทำการฉาบแต่งผนัง

 

งานด้านสาธารณูปโภค

งานในส่วนนี้ ได้แก่ การวางท่อระบายน้ำและทำบ่อพักเพื่อระบายน้ำตามจุดต่าง ๆ ภายในอาคาร การเดินสายไฟและท่อร้อยสายไฟสำหรับการเดินสายไฟระบบฝัง การเดินท่อน้ำประปาและสายไฟ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการทำพื้นและผนัง ถ้าการเดินท่อน้ำและสายไฟเป็นระบบเดินลอย คือเดินอยู่บนพื้นและ ภายนอกผนังจะเริ่มทำได้หลังจาก มีการปูแต่งผิวพื้นและฉาบแต่งผนังเรียบร้อยแล้ว แต่ถ้าการเดินท่อน้ำและสายไฟเป็นแบบฝังก็จะต้องทำก่อนการเทพื้น การปูแต่งผิวพื้น และฉาบแต่งผนัง โดยควรจะมีการ ตรวจสอบความเรียบร้อยและความถูกต้อง ในการวางตำแหน่งของท่อและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องเสียก่อน ดังที่ได้กล่าวไว้แล้ว

 

 

งานด้านสุขาภิบาล

งานด้านสุขาภิบาล ได้แก่ การวางท่อระบายน้ำและทำบ่อพักเพื่อระบายน้ำลงสู่ท่อระบายน้ำ สาธารณะ การวางท่อ ระบบบำบัดน้ำเสีย ซึ่งได้แก่ การติดตั้งถังบำบัดหรือการทำบ่อเกรอะและบ่อซึม ซึ่งงานในส่วนนี้ จะทำในช่วงไหนก็ได้แล้วแต่กำลังคนและความสะดวก เนื่องงานเหล่านี้มักเป็นงานที่อยู่ภายนอกตัวบ้าน แต่จะต้องทำหลังจากเสร็จงานด้านฐานรากเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหาย เนื่องจากความกระทบกระเทือนจากการทำฐานราก ส่วนในกรณีของบ้านที่มีเนื้อที่จำกัดเช่นทาวเฮาส์ ซึ่งจำเป็นจะต้องติดตั้งถังบำบัดหรือวางบ่อเกรอะและบ่อซึมอยู่ใต้พื้นห้องน้ำก็จะต้องทำก่อนการเทพื้นห้องน้ำและในกรณีที่มีการวางแนวท่อระบายน้ำไว้ใกล้กับแนวรั้ว ก็ต้องทำหลังจากการทำฐานรากของรั้วเสร็จเรียบร้อยแล้ว เพื่อป้องกันไม่ให้ท่อระบายน้ำชำรุดจากการทำฐานรากของรั้ว

 

งานตกแต่ง

งานตกแต่งเป็นงานที่มีความหมายค่อนข้างกว้างงานใดที่ให้ผลงานปรากฏแก่สายตาของผู้พบเห็น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อถึงความสวยงามเรียบร้อยหรือโดดเด่นประทับใจร่วมอยู่ด้วย ก็อาจจัดอยู่ในส่วนของงานตกแต่งได้ ซึ่งงานตกแต่งในที่นี้ส่วนใหญ่มักจะเป็นงานกึ่งก่อสร้าง กึ่งตกแต่งเสียมากกว่างานหลักในกลุ่มนี้ได้แก่ การบุฝ้าเพดาน การปูพื้นและบุผนัง การทาสี การติดตั้งสุขภัณฑ์ การติดตั้งดวงโคม ตลอดจนการติดตั้งเฟอร์นิเจอร์ งานในกลุ่มนี้มักจะทำในขั้นตอนท้ายๆหลังจากเสร็จสิ้นงานในขั้นตอนอื่นๆแล้ว การเรียงลำดับขั้นตอนในส่วนของงานนี้ไม่สามารถกำหนดตายตัวได้ งานบางขั้นตอนอาจจะทำก่อนทำภายหลัหรือทำควบคู่กันไปก็ได้แล้วแต่ความพร้อมหรือความเหมาะสมของกำลังคนและวัสดุช่วงเวลานั้นๆ   นอกจากงานบางขั้นตอนที่สัมพันธ์กันก็จะต้องมีลำดับก่อนหลัง เช่น การบุฝ้าเพดานจะต้องทำหลังจากการมุงหลังคารวมทั้งการเดินระบบท่อน้ำ ท่อร้อยสายไฟ และสายไฟต่างๆ ในส่วนที่อยู่เหนือฝ้าเพดานเสร็จเรียบร้อยแล้ว การปูพื้นและบุผนังจะต้องทำหลังจาก การเดินท่อและอุปกรณ์ต่างๆ ในส่วนที่ฝังอยู่ภายใต้พื้นและภายในผนังเสร็จเรียบร้อยแล้ว การติดตั้งดวงโคมจะต้องทำหลังจากการบุฝ้าเพดานเสร็จเรียบร้อยแล้วเป็นต้น นอกจากนี้ยังมีงานตกแต่งเพิ่มเติมในส่วนท้ายอีก ซึ่งอาจจะทำหรือไม่ทำก็ได้และมักจะไม่รวมอยู่ในขั้นตอนการปลูกสร้างบ้าน เช่น การติดตั้งลูกกรง เหล็กดัด การติดตั้งผ้าม่าน การจัดสวน ฯลฯ ซึ่งจะไม่กล่าวถึงในที่นี้จากตัวอย่างที่ยกมาตั้งแต่ต้นจะสังเกตเห็นว่า งานบางขั้นตอนที่ไม่เกี่ยวข้องกันนั้น การจัดลำดับขั้นตอนและจังหวะเวลาในการทำงาน อาจสามารถยึดหยุ่นได้โดยไม่ส่งผลเสียหายแต่ประการใด ในขณะที่งานบางขั้นตอนที่มีความสัมพันธ์กันจะต้องมีการจัดลำดับขั้นตอนและจังหวะเวลาในการทำให้เหมาะสม รวมทั้งการวางแผนการเตรียมการและการประสานงานต่างๆ จะต้องกระทำในช่วงเวลาที่เหมาะสมเพื่อให้ผลงานที่ออกมามีความถูกต้องเป็นไปตามที่ต้องการ เพราะความผิดพลาดบกพร่องในขั้นตอนหนึ่งขั้นตอนใดก็ตาม โดยเฉพาะขั้นตอนต้นๆย่อมส่งผลเสียหายไปถึงขั้นตอนถัดไปด้วย ยิ่งถ้าปล่อยให้ผิดพลาดล่วงเลยไป การแก้ไขในภายหลังก็ยิ่งกระทำได้ลำบากยิ่งขึ้น จึงควรระมัดระวังในจุดนี้ด้วย

 

 (ที่มา:  www.novabizz.com)

bottom of page